สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3
Institute of Vocational Education Central Region 3

ประวัติความเป็นมาของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3
พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อจัดการศึกษาในด้านวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยนำความรู้ในทางทฤษฎีอันเป็นสากลและภูมิปัญญาไทย มาพัฒนาผู้รับการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในทางปฏิบัติ และมีสมรรถนะ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพในลักษณะผู้ปฏิบัติหรือประกอบอาชีพโดยอิสระได้ ภายใต้วัตถุประสงค์ต้องคำนึงถึงการมีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ โดยมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่สถานศึกษาอาชีวศึกษาและสถาบันการศึกษาในด้านวิชาชีพสำหรับประชาชน วัยเรียน และวัยทำงานตามความถนัดและความสนใจอย่างทั่วถึง และต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรี การมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และสถานประกอบการ ในการกำหนดนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคน รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการอาชีวศึกษา การศึกษาที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย และมีระบบเทียบโอนผลการเรียน และระบบเทียบประสบการณ์การทำงานของบุคคล เพื่อเข้ารับการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง การมีระบบจูงใจให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ การระดมทรัพยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยคำนึงถึงการประสานประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และการมีระบบการพัฒนาครูและคณาจารย์ของการอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
การจัดการอาชีวศึกษา มี 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) การศึกษาในระบบ เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เน้นการศึกษาในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันเป็นหลัก โดยมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลา การวัดและการประเมินผลที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน 2) การศึกษานอกระบบ เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมายรูปแบบ วิธีการศึกษา ระยะเวลา การวัดผลและการประเมินผลที่เป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหา และหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม และ 3) การศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในเรื่องการจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและการประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันและเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ นอกจากนั้นมาตรา 13 กำหนดให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาสามารถรวมกันเป็นสถาบันได้
กฎกระทรวงการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2555 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ให้จัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ประกอบด้วย วิทยาลัย เทคนิคนครนายก วิทยาลัยการอาชีพนครนายก วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี วิทยาลัยเทคนิคบูรพาปราจีน วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ
สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่ชำนาญการปฏิบัติ การสอน การวิจัย การถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้บริการวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 16 พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 นอกจากนั้น มาตรา 19 กำหนดให้สถาบันจะรับสถานศึกษาอื่นหรือสถานประกอบการเข้าสมทบในสถาบัน เพื่อประโยชน์ ในการวิจัย และพัฒนามาตรฐานการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพได้ และมีอำนาจให้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือปริญญาตรีแก่ผู้ที่ศึกษาจากสถานศึกษาหรือสถานประกอบการและสำเร็จการศึกษาตามหลักเกณฑ์ของสถาบันได้
สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิค ระดับปริญญาสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ รวมทั้งส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูงมีความชำนาญในการสอน ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนามาตรฐานการอาชีวศึกษา การถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยี การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้บริการวิชาการ และวิชาชีพแก่สังคม จัดทำข้อเสนอแนะ แนวนโยบาย แผนพัฒนาสถาบัน ให้สอดคล้อง กับมาตรฐานการอาชีวศึกษา มาตรฐานวิชาชีพ และหลักสูตรการอาชีวศึกษาของสถาบัน ส่งเสริม ประสานความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษา หรือสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน สถานประกอบการ ภาคเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐในการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายของ สถาบันเพื่อประโยชน์ ทางวิชาการ การวิจัยพัฒนาการอาชีวศึกษาและการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอจัดตั้งงบประมาณ การจัดหารายได้ การบริหารงานงบประมาณการเงินและทรัพย์สินของสถาบัน ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการอาชีวศึกษา การติดตามตรวจสอบ การประเมินผล การบริหารจัดการของสถาบันให้สอดคล้องกับนโยบาย แผนพัฒนาและมาตรฐาน การอาชีวศึกษา ดำเนินงานเกี่ยวกับงานเลขานุการสภาสถาบัน และดำเนินการตามที่สภาสถาบันมอบหมายและปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสภาสถาบันหรือตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามอบหมาย
สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ประกอบด้วยสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขต 5 จังหวัด ประกอบด้วย นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ โดยมีสถานศึกษาในสังกัดจำนวน 10 สถานศึกษาได้แก่
- วิทยาลัยเทคนิคนครนายก
- วิทยาลัยการอาชีพนครนายก
- วิทยาลัยเทคนิคบูรพาปราจีน
- วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี
- วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว
- วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา
- วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง)
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา
- วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา
- วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ
โดยมีสำนักงานชั่วคราวตั้งอยู่ที่ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก
ปรัชญา
นักเทคโนโลยี มีคุณธรรม เป็นผู้นำวิชาชีพ
วิสัยทัศน์ (2566 – 2570)
สร้างพลังร่วมผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ภูมิภาค [ภาคกลาง 3 พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) และภาพรวมของประเทศ
เอกลักษณ์
ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากล
อัตลักษณ์
ทักษะเด่น เป็นคนดี มีอาชีพ พึ่งตนเองได้
พันธกิจ
- พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถสถาบันและสถานศึกษาในการเป็นผู้นำทางวิชาการ เพื่อการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาคุณภาพสูง
- ขยายการให้บริการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบอาชีวศึกษาและการบริการทางการอาชีวศึกษา เพื่อบริการสังคมด้วยรูปแบบวิธีการที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และการบริหารจัดการ ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ รวมถึงการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพทุกช่วงวัย รูปแบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) และ Skill Certificate
- สร้างความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการระดมทรัพยากรและยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษา
- ปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน ทั้งในระดับชาติและระดับสากล
- พัฒนาระบบส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้และการบริหารจัดการด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี
- ส่งเสริมและพัฒนาครูและบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานอาชีพ
ค่านิยมร่วม
MOVE FORWARD “ก้าวไปข้างหน้า”
สีประจำสถาบัน
เขียว – ขาว
ต้นไม้ประจำสถาบัน
ต้นศรีตรัง
ตราสัญลักษณ์ประจำสถาบัน
ตราสัญลักษณ์ภาษาไทย
ตราสัญลักษณ์ภาษาอักกฤษ
